วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

พระนางพญา


                                                                  พระนางพญา





ในวงการพระเครื่องได้มีการจัดหมวดหมู่ตัวแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๕ ยุคสมัยไว้ด้วยกัน กล่าวคือ พระรอด เป็นตัวแทนสมัยทวารวดี พระผงสุพรรณ ตัวแทนสมัยอู่ทอง พระซุ้มกอ ตัวแทนสมัยสุโขทัย พระนางพญา ตัวแทนสมัยกรุงศรีอยุธยา พระสมเด็จวัดระฆัง ตัวแทนสมัยรัตนโกสินทร์
อาจารย์สมาน บุญเพ็ญ หรือ สมาน คลองสาม ผู้เชี่ยวชาญพระเครื่องรุ่นใหญ่ ที่คร่ำหวอดในวงการมานานกว่า ๔๐ ปี แสดงทรรศนะเกี่ยวกับ “พระนางพญา” ว่า จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ระบุว่าผู้สร้างคือ พระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย วีรสตรีสมัยกรุงศรีอยุธยา อัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และเป็นพระราชมารดาของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชชาติไทย
“มวลสารเป็นดินเผาผสมว่านและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน แม่พิมพ์เป็นศิลปะสกุลช่างสุโขทัย ลักษณะปฏิมากรรมแบบนูนต่ำ ในทรงสามเหลี่ยม ประทับนั่งปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าน่าจะพิมพ์ครั้งละหลาย ๆ องค์ แล้วใช้ของมีคมตัดออกจากกัน ก็เลยมีรอยครูดที่เรียกว่า รอยตัดตอก ทำเสร็จก็แจกทหารเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ที่เหลือก็นำไปบรรจุกรุในเจดีย์ตามวัด เช่น วัดนางพญา เป็นต้น”
พระนางพญาหลัก ๆ แบ่งเป็น ๖ แม่พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์เข่าตรง พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เทวดา พิมพ์อกนูนใหญ่ และพิมพ์อกนูนเล็ก โดยเฉพาะพิมพ์เข่าตรงจะแยกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์มือตกเข่า และมือไม่ตกเข่า เนื้อพระค่อนข้างหยาบ แกร่งและแข็งมาก ส่วนวรรณะมีหลายสี เช่น แดง ดำ เขียว เหลือง และสีดินหม้อใหม่ (ส้ม)
“พระนางพญาแตกกรุประมาณ พ.ศ.๒๔๔๔ เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก เพื่อทรงทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราช
จำลอง ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารหรือวัดใหญ่ คาดว่าวัดนางพญาซึ่งอยู่ใกล้กันได้มีการปรับที่ดินรับเสด็จฯ ทำให้พบพระเครื่องจำนวนมาก จึงคัดเลือกองค์สวยสมบูรณ์ทูลเกล้าฯ ถวายและแจกจ่ายข้าราชบริพารในสมัยนั้นคนละ ๒-๓ องค์”
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลว่า พระนางพญาแตกกรุ เพราะมือดีลอบขุดเจดีย์วัดนางพญาเพื่อหาพระทองคำและพระบูชาเนื้อสัมฤทธิ์ ตอนนั้นเจอพระมากมาย แต่ไม่มีใครสนใจขนไปทิ้งปะปนกับเนินดิน เนื่องจากคนสมัยก่อนไม่นิยมนำพระเข้าบ้าน ทิ้งตากแดดตากฝนถูกทับถมหลายสิบปี กระทั่งมีคนนำไปบูชาเจออภินิหารและประสบการณ์ ทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม คราวนี้แห่มาหากันจ้าละหวั่น ขุดดินพรุนทั้งวัด จนทางวัดสั่งเทปูนซีเมนต์คลุมผิวดินทั้งหมด ทำให้การขุดพระต้องเลิกไป
“แรงจูงใจสำคัญที่ผู้หญิงชื่นชอบพระนางพญา อาจเป็นเพราะว่า พระพิมพ์นี้เป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว องค์เล็กขนาดกำลังดี ฐานกว้างประมาณ ๒ ซม. สูง ๒.๘ ซม. เหมาะสำหรับผู้หญิง ยิ่งถ้านำไปเลี่ยมใส่ตลับทองคำฝังเพชร หรือเลี่ยมทองคล้องติดตัวแล้วสวยงามคลาสสิกมาก ด้านพุทธคุณ นักนิยมพระเชื่อกันว่า โดดเด่นที่สุดคือ เมตตา มหานิยม แคล้วคลาดคงกระพัน ป้องกันอันตรายได้ยอดเยี่ยม”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น